จากบทความก่อนหน้านี้หนึ่งในเทคนิคการบริหารเงินนั้นคือ การให้เงินของเราเป็นคนหาเงินมาให้หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ “การลงทุน” นั่นเอง
อ่านบทความก่อนหน้า
หลายๆคนอาจจะคิดว่าการลงทุนเป็นเรื่องที่เข้าใจยากซับซ้อนแต่จริงๆแล้วการลงทุนไม่ใช่เรื่องยากถ้าเราตั้งใจศึกษาหาความรู้กับมันจริงๆ การหาความรู้ก็ถือเป็นการลงทุนเหมือนกันแต่เป็นการลงทุนในตัวเราเองตามที่ Warren Buffet ได้กล่าวไว้ว่า
การลงทุนที่ดีที่สุด คือ การลงทุนในตัวคุณเอง
Warren Buffet
ดังนั้นในบทความนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าจะเริ่มลงทุนต้องเตรียมตัวยังไงบ้างแล้วมีสินทรัพย์ประเภทไหนบ้างที่เราสามารถลงทุนได้ จะพยายามทำให้เข้าใจง่ายๆ เพราะผมก็มือใหม่เหมือนกันเข้าใจว่าการเริ่มต้นมันยาก ยังไงก็ขอให้บทความนี้เป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่สนใจจะเริ่มลงทุนนะครับ ถ้าผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยเอาล่ะถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย
สำรวจตัวเองก่อน

ก่อนที่เราจะเริ่มต้นลงทุนเราต้องมาทำความรู้จักตัวเราเองก่อน ว่าเราตั้งเป้าหมายการลงทุนครั้งนี้ไว้แบบไหนต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่และใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการบรรลุเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น
- เพื่อมีเงินแสนในระยะเวลา 1 ปี
- เพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน
- เพื่อมีเงินใช้ในยามเกษียณ
- เพื่อเอาชนะอัตราเงินเฟ้อต่อปี
หลังจากได้เป้าหมายแล้วสิ่งต่อไปที่สำคัญคือการที่เราสำรวจตัวเองว่า “เรายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน” เพราะมันจะทำให้เรารู้ว่าเราควรลงทุนในสินทรัพย์อะไร ซึ่งระดับของความเสี่ยงจะแบ่งได้คร่าวๆดังนี้
- เสี่ยงต่ำ : ยอมรับผลขาดทุนไม่ได้เลย เงินต้นที่ลงทุนไปต้องอยู่ครบ
- เสี่ยงปานกลาง : ยอมรับผลการขาดทุนได้บ้าง เพื่อแลกกับกำไรจากการลงทุน
- เสี่ยงสูง : ไม่กังวลกับการขาดทุนเพราะมุ่งหวังกับผลตอบแทนและกำไรที่สูงขึ้น
Q : ทำไมเราต้องสำรวจว่าเรายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน
A : เพื่อให้เราลงทุนในสินทรัพย์ตามความเสี่ยงที่เรารับได้ไม่ทำให้เราเครียดจนเกินไป
หลังจากที่รู้ระดับการยอมรับความเสี่ยงของเราแล้ว มาดูกันว่ามีสินทรัพย์ตัวไหนที่น่าสนใจบ้างโดยเรียงลำดับจากความเสี่ยงดังนี้
เสี่ยงต่ำ
สินทรัพย์ต่อไปนี้มีความเสี่ยงที่ต่ำหรือไม่มีความเสี่ยงเลย เงินต้นของเราจะอยู่ครบแต่ก็แลกมากับผลตอบแทนที่น้อยเช่นเดียวกัน
เงินฝาก
ความเสี่ยงแทบไม่มีเลยและสภาพคล่องก็สูงมากเพราะเป็นการเก็บเงินไว้ในธนาคารถอยมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ไม่ได้นำไปลงทุนอะไรแต่ก็อย่างที่เรารู้ๆกันว่าดอกเบี้ยของการฝากเงินอยู่ที่ประมาณ 0.1-2% หรือจะเป็นการฝากประจำก็ประมาณ 1-2% ซึ่งก็ยังน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อแต่ละปีที่อยู่ประมาณ 2-3% อยู่ดี
ช่องทางในการลงทุน
- ธนาคารทั่วประเทศทุกสาขา
- Mobile banking
ผลตอบแทน
- ดอกเบี้ยเงินฝาก ~ 0.1-2 % ต่อปี
จุดเด่น
- สภาพคล่องสูง ถอนเงินมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้(ออมทรัพย์)
ข้อสังเกตุ
- ดอกเบี้ยต่ำ
สลากออมทรัพย์และสลากออมสิน
อารมณ์ประมาณฝากประจำเพราะมีระยะเวลาในการฝากอยู่ถ้าถอนก่อนกำหนดจะถูกหักเงินต้นเล็กน้อย ผลตอบแทนประมาณ 0.05-0.5% แต่สำหรับสายที่ชอบเสี่ยงดวงน่าจะชอบเพราะมีการลุ้นรางวัลทุกเดือนตั้งแต่หลักสิบไปจนหลักล้านเลยครับ
ช่องทางในการลงทุน
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ผลตอบแทน
- ดอกเบี้ยเงินฝาก ~ 0.05-5 % ต่อปี
- รางวัลในแต่ละงวด
จุดเด่น
- ถ้าซื้อครบทุกเลขสามารถถูกรางวัลทุกงวด
- มีโอกาสถูกรางวัลใหญ่
ข้อสังเกตุ
- ถ้าถอนก่อนกำหนดถูกหักเงินต้นหรืออาจไม่ได้ดอกเบี้ย
- ดอกเบี้ยต่ำ
เสี่ยงปานกลาง
สินทรัพย์ต่อไปนี้มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นอยู่บ้าง แต่ก็แลกมาด้วยผลตอบแทนที่ดีกว่า
ตราสารหนี้
เคยมีฟิลอยากเป็นเจ้าหนี้ไหมการลงทุนในตราสารหนี้เหมือนการที่เราให้บริษัทต่างๆกู้ยืมเงินจากเราและก็จ่ายดอกเบี้ยเราด้วยพอครบระยะเวลาที่กำหนดไว้เขาก็จะจ่ายเงินต้นเราคืน ยกตัวอย่างตราสารนี้เช่น ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้เอกชน และพันธบัตรรัฐบาล
ช่องทางในการลงทุน
- ตราสารหนี้ของภาครัฐลงทุนผ่าน 4 ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วม (SCB, BBL, KBANK, KTB)
- ตราสารหนี้ภาคเอกชนลงทุนผ่าน บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท
ผลตอบแทน
- ดอกเบี้ยเป็นงวดตามที่กำหนดไว้ในตราสาร
จุดเด่น
- ได้ดอกเบี้ยเป็นงวดๆตามที่ระบุไว้
- เลือกลงทุนได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ข้อสังเกตุ
- ส่วนมากดอกเบี้ยคงที่
- เงินลงทุนขั้นต่ำราคาสูงในบางตัว
- ต้องถือครบตามสัญญาถึงจะได้เงินคืน
กองทุนรวม

เป็นการระดมเงินลงทุนจากคนจำนวนมาก เพื่อตั้งเป็น กองทุนขึ้นมา โดยเงินที่ได้รับนั้นจะมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพ นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้ได้รับผลตอบแทนแล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่ลงทุนมีทั้งกองทุนที่มีปันผลและไม่ปันผลโดยที่ความเสี่ยงของแต่ละกองทุนก็จะแตกต่างกันออกไปยกตัวอย่างกองทุนที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ
- กองทุนรวมตราสารหนี้ก็จะเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เงินฝากตามธนาคารต่างๆ
- กองทุนรวมตราสารทุนก็จะกระจายลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดี
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาวไว้สำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ กองทุนนี้สามารถนำไปลดหย่อยภาษีได้อีกด้วย
- กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว หรือ SSF กองทุนน้องใหม่ที่มาแทน LTF เน้นลงทุนระยะยาวเหมือนกัน กองทุนนี้ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภทและสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
ในแต่ละกองทุนก็จะมีค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนที่แตกต่างกันออกไปก่อนลงทุนต้องอ่าน fund fact sheet อย่างละเอียดก่อนนะครับ ไว้อนาคตผมจะทำบทความแยกของกองทุนรวมที่น่าสนใจนะครับ
ช่องทางในการลงทุน
- ธนาคารพาณิชย์ต่างๆที่เป็นตัวแทนขายกองทุน
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
- Mobile Application ของธนาคารตัวเเทน
ผลตอบแทน
- เงินปันผล
- กำไรจากส่วนต่างของราคา
จุดเด่น
- ไม่ต้องใช้เวลาติดตามหุ้นรายตัว
- ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มากเริ่มต้นที่ 1 บาท
- มีคนคอยบริหารเงินลงทุนให้
- ลดหย่อนภาษีได้ในบางกองทุน
ข้อสังเกตุ
- มีความเสี่ยงตามสินทรัพย์ที่ไปลงทุนมีตั้งแต่เสี่ยงต่ำไปยังสูง
- มีค่าธรรมเนียมในการจัดการ
เสี่ยงสูง
สินทรัพย์ต่อไปนี้มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นตั้งแต่ปานกลางไปจนไม่เหลือเงินต้นเลย แต่ผลตอบแทนก็อาจสูงเป็นเท่าๆตัวได้เช่นกัน
ตราสารทุน หรือ หุ้น

ถ้าการเป็นเจ้าหนี้ยังไม่ตอบโจทย์ลองมาเป็นเจ้าของบริษัทไหม การลงทุนในตราสารทุนหรือก็คือการลงทุนในหุ้นนั้นเหมือนกับการเอาเงินของเราไปให้บริษัทใช้ถ้าบริษัทได้กำไรเราก็ได้กำไรด้วยแต่ถ้าบริษัทขาดทุนเราก็ขาดทุนด้วยเช่นกัน
ก่อนที่จะเริ่มลงทุนในหุ้นได้เราจำเป็นต้องไปเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ก่อนซึ่งแต่ละโบรกเกอร์ก็จะมีบริการแตกต่างกันออกไป ดังนั้นก่อนจะลงทุนในหุ้นต้องศึกษาข้อมูลของโบรกเกอร์ และหลังจากเปิดบัญชีได้แล้วเวลาจะลงทุนในหุ้นตัวไหนๆต้องดูข้อมูลของบริษัทและสภาพเศรษฐกิจให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
ช่องทางในการลงทุน
- บริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหุ้นจากผู้ลงทุน (โบรกเกอร์)
ผลตอบแทน
- เงินปันผล
- กำไรจากส่วนต่างของราคา
จุดเด่น
- ได้ผลตอบแทนที่สูง
- เปรียบเสมือนได้เป็นเจ้าของบริษัทที่ตัวเองลงทุน
ข้อสังเกตุ
- มีโอกาสขาดทุนจนไม่เหลือเงินต้นเลย
- ใช้ประสบการณ์และความรู้ค่อนข้างเยอะ
- มีความผันผวนสูง
อนุพันธ์
คือการทำการตกลงซื้อขายกับสินค้าในอนาคต เช่น ทอง น้ำมัน สินค้าเกษตร หรือ หุ้นก็ได้ โดยการซื้ออนุพันธ์ผู้ลงทุนวางเงินประกันประมาณ 10-15% ของราคาทั้งหมดหลังจากครบสัญาค่อยจ่ายอีกเต็มจำนวน
ยกตัวอย่างการลงทุนอนุพันธ์เช่น เราทำการตกลงจะซื้อทองในอีก 3 เดือนกับผู้ขายในราคาบาทละ 30,000 บาท เราก็จ่ายก่อน 10% = 3,000 บาท พอ 3 เดือนผ่านไปราคาทองขึ้นเป็นบาทละ 40,000 บาท เราก็จ่ายเพิ่มอีกแค่ 27,000 บาท ตามสัญญาเท่ากับว่าจะได้กำไร 10,000 บาท แต่ถ้ากลับกันถ้าทองราคาลงเป็นบาทละ 20,000 บาทล่ะเราก็จะขาดทุนไป 10,000 บาทเช่นกัน
โดยตัวอนุพันธ์นั้นปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ “ฟิวเจอร์ส” (Futures) และ “ออปชัน” (Options)
Future
ไม่จำเป็นต้องถือสัญญาครบกำหนดสามารถขายก่อนได้แต่เมื่อครบแล้วต้องซื้อขายกันตามสัญญา
Options
ผู้ซื้อจะได้รับสิทธิในการซื้อขายโดยต้องจ่ายค่า Premium ก่อน ซึ่งผู้ถือสามารถเลือกใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้
ช่องทางในการลงทุน
- บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาติในการขายอนุพันธ์ (โบรกเกอร์)
ผลตอบแทน
- กำไรจากส่วนต่างของราคา
จุดเด่น
- ได้ผลตอบแทนสูง
ข้อสังเกตุ
- โอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน
- ต้องใช้ความรู้มากๆในการคาดการณ์ราคาในอนาคต
- เงินประกันในการลงทุนสูงตามสินทรัพย์ที่เราลงทุน
สำหรับมือใหม่ผมไม่แนะนำสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนะครับเพราะ ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ ก่อนตัดสินใจลงทุนครับ
สินทรัพย์ทั้งหมดมีประมาณนี้ตกหล่นตัวไหนไปก็ขออภัยด้วยนะครับ ต่อไปจะมาแนะนำเทคนิคที่ใช้ในการลงทุนโดยที่ไม่ต้องมีเงินลงทุนเยอะๆนะครับนั่นก็คือ
เทคนิคการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging
เป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินเท่าๆกันในสินทรัพย์นั้นๆโดยที่เราไม่สนว่าราคาในตอนนั้นเป็นเท่าไหร่ ยกตัวอย่างลงทุนในกองทุน a 1,000 บาททุกเดือนจะได้ผลตามตารางนี้
เดือน | ราคาหุ้น/บาท | หน่วย |
ม.ค. | 10 | 100 |
ก.พ. | 8 | 125 |
มี.ค. | 9 | 111.11 |
เม.ย. | 11 | 90.90 |
จะเห็นได้ว่าเราสามารถซื้อหน่วยลงทุน จำนวนที่มากขึ้นหากราคาปรับตัวต่ำลง และจะซื้อได้น้อยลงในขณะที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงแถมยังสร้างวินัยได้อีกด้วยครับ
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียนะครับ
ข้อเสียคือถ้าเราลงทุนแบบ DCA กับสินทรัพย์ที่ไม่เติบโตเลยสุดท้ายจะทำให้เราขาดทุนสถานเดียวครับ
วิธี DCA เหมาะกับการนำไปใช้ลงทุนในกองทุนรวมครับเพราะว่ามีผู้จัดการกองทุนคัดเลือกสินทรัพย์ให้ และที่สำคัญคือกองทุนมีการกระจายความเสี่ยงให้ครับผม
สรุป
สำหรับมือใหม่หัดลงทุนผมแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมเพราะสะดวกและเราไม่ต้องจัดการเองมีผู้จัดการกองทุนเป็นคนจัดการให้สามารถเริ่มต้นลงทุนได้แม้มีเงินลงทุนเริ่มต้นไม่มากแต่สำหรับใครที่อยากลงทุนในสินทรัพย์ที่ตัวเองสนใจก็ลองศึกษาหาความรู้ในสินทรัพย์นั้นๆให้มากๆนะครับอย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยงทุกตัวครับ
ถึงยังไงเราก็ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์เเค่เพียงตัวเดียวนะครับควรบริหารพอตเพื่อกระจายความเสี่ยงด้วยผมหวังว่าทุกท่านอ่านจบแล้วจะเข้าใจการลงทุนไม่มากก็น้อยนะครับ ชอบก็ช่วยแชร์ด้วยนะครับขอบคุณครับผม
ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ในการลงทุนคือวินัยและการคอยหาความรู้ให้ตัวเองอยู่สม่ำเสมอนะครับ